วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ทฤษฎีพัฒนาการของ Sigmund Freud - Theories of Development

ทฤษฎีพัฒนาการของ Sigmund Freud - Theories of Development
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theories) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856 – 1938)
แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎี
แนวคิดที่สำคัญคือ ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ(Instinctual drive) และแรงขับดังกล่าวเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนที่ได้ จิตจึงเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดนิ่ง (Psycho-Dynamic) สัญชาตญาณดังกล่าว ได้แก่ สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Eros or Life) เป็นสัญชาตญาณที่แสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) แต่ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึง ความต้องการทางเพศ ตามความเรียกร้องทางด้านสรีระเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัญชาตญาณ ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และเป็นสัญชาตญาณ ที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนา และความต้องการ ที่จะได้รับความพึงพอใจ ในรูปแบบต่างๆ และสัญชาตญาณในการป้องกันตนเอง อันเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์แสวงหาความพึงพอใจให้แก่ตนเอง และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos or Death instinct) ที่แสดงออกมาในรูปของสัญชาตญาณในการทำลายหรือความก้าวร้าว ( Destructive instinct or aggressive instinct ) ฟรอยด์มองธรรมชาติในแง่ลบ (Pessimism) กล่าวคือ มนุษย์ไม่มีเหตุผล (Irrational) ไม่มีการขัดเกลา (Unsocialized) โดยมุ่งที่จะตอบสนอง และแสวงหาความพึงพอใจให้กับตนเองเป็นสำคัญ (Self-gratification) นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้อธิบายว่าสัญชาตญาณจะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพลังขับทางเพศเรียกว่า พลังลิบิโด (Libido)เป็นพลังที่ทำให้มนุษย์ มีความปรารถนา และความต้องการที่จะได้รับความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเคลื่อนที่ เปลี่ยนรูป และสามารถจะเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามระยะเวลาของพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง และยังสามารถเคลื่อนที่ไปยังวัตถุ หรือบุคคลนอกตัวเราได้ เช่น หากพลังลิบิโด เคลื่อนไปอยู่ที่แม่ ก็จะทำให้เด็กเกิดความรัก และความหวงแหนแม่ เป็นต้น
การทำงานของจิตแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. จิตไร้สำนึก ( Unconscious Mind ) เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างที่บุคคลแสดงออกไปโดยไม่รู้ตัว ที่เกิดมาจากพลังของจิตไร้สำนึกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกไปตามหลักแห่งความพึงพอใจของตน และการทำงานของจิตไร้สำนึก เกิดจากความปรารถนา หรือความต้องการของบุคคลที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การถูกห้าม หรือถูกลงโทษ จะถูกเก็บกดไว้ในจิตส่วนนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปรับตัว เมื่อเกิดความขัดแย้งทางจิตที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดพลั้งปาก ความฝัน เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งที่เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกอาจมีอิทธิพลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามแรงกระตุ้น เช่น เด็กที่เก็บกดความรู้สึกมุ่งร้ายในเรื่องเพศในวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจหมดความรู้สึกทางเพศได้ ส่วนจิตไร้สำนึก อาจเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็ง ส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวน้ำ โดยมีจิตสำนึก (Conscious Mind) เป็นส่วนของน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำ ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย
2. จิตสำนึก ( Conscious Mind ) ซึ่งเป็นสภาวะที่บุคคลรับรู้ตามประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่บุคคลจะมีการรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ คิดอย่างไรเป็น การรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ ที่ควบคุมการกระทำส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) และเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยมีเจตนา และมีจุดมุ่งหมายจิตสำนึกเป็นส่วนที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาศัยหลักแห่งเหตุผล และศีลธรรมที่ตนเองเชื่อถือเพื่อเป็นแนวทางในการแสดงพฤติกรรม
3. จิตก่อนสำนึก ( Preconscious Mind) เป็นส่วนของประสบการณ์ที่สะสมไว้แต่มีลักษณะเลือนๆ เมื่อถูกสภาวะ หรือสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม หรือเมื่อบุคคลต้องการ นำกลับมาใช้ใหม่ ก็สามารถระลึกได้ และสามารถนำกลับมาใช้ในระดับจิตสำนึกได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับจิตรู้สำนึกมากกว่าจิตไร้สำนึก
จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง 3 ระดับจะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process)เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ ( Instinctual Drives ) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเอง ไปยังบุคคลอื่น และสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของจิตก่อนสำนึก และจิตสำนึก จะพัฒนาขึ้นเป็น กระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)
โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality)
ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพจะประกอบด้วย อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Superego) โดยจะอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1. อิด ( Id ) จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด Id ประกอบด้วยแรงขับทางสัญชาตญาณ ( Instinct ) ที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น การทำงานของ Id จึงเป็นไปตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle) ที่ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมตามความเป็นจริง จะเป็นไปในลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process of Thinking) เช่น เด็กหิวก็จะร้องไห้ทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา และส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก
2. อีโก้ ( Ego ) จะเป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน อิด และ ซูเปอร์อีโก้ ให้แสดงบุคลิกภาพออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และขอบเขตที่สังคมกำหนดเป็นส่วนที่ทารกเริ่มรู้จักตนเองว่า ฉันเป็นใคร Ego ขึ้นอยู่กับหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle)ที่มีลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process of Thinking) ซึ่งมีการใช้เหตุผล มีการใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม และอีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่
3. ซูเปอร์อีโก้ (Superego)นั้นเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันให้บุคคลประเมินพฤติกรรมต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับมโนธรรม จริยธรรมที่พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรมจรรยา และอุดมคติที่พ่อแม่สอนเข้ามาไว้ในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เด็กมีอายุประมาณ 3 – 5 ขวบ (ระยะ Oedipus Complex) และเด็กจะพัฒนาความรู้สึกเหล่านี้ไปตามวัย โดยมีสภาพแวดล้อมทางบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญการทำงานของ Superego จะขึ้นอยู่กับหลักแห่งจริยธรรม (Moral Principle) ที่ห้ามควบคุม และจัดการไม่ให้ Id ได้รับการตอบสนองโดยไม่คำนึงถึง ความผิดชอบชั่วดี โดยมี Ego เป็นตัวกลางที่ประสานการทำงานของแรงผลักดันจาก Id และ Superego
โดยทั่วไปแล้ว Superego จะเป็นเรื่องของการมีมโนธรรม (Conscience) ที่พัฒนามาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ หรือผู้อบรมเลี้ยงดู ซึ่งเป็นค่านิยมที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูกว่าสิ่งใดดีควรประพฤติปฏิบัติหรือไม่อย่างไร ส่วนนี้จะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกผิด (Guilt Feeling) ที่จะติดตามรบกวนจิตใจของบุคคลเมื่อกระทำสิ่งใดที่ขัดต่อมโนธรรมของตนเอง และส่วนที่ เรียกว่าอุดมคติแห่งตน (Ego-Ideal) ที่พัฒนามาจากการเอาแบบอย่าง (Identification) จากบุคคลที่เคารพรักเช่น พ่อแม่ ผู้อบรมเลี้ยงดู และคนใกล้ชิด ทำให้เด็กรับรู้ว่าทำสิ่งใดควรประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้รับการยอมรับ และความชื่นชมยกย่องซึ่งทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เมื่อได้ทำตามอุดมคติของตนบางส่วนของ Superego จะอยู่ในระดับจิตสำนึก และบางส่วนจะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
ฟรอยด์ ได้อธิบายถึงการพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางเพศ (Stage of Psychosexual Development) จากความเชื่อเกี่ยวกับสัญชาตญาณทางเพศในเด็กทารกที่แสดงออกมาในรูปพลังของ ลิบิโด (Libido) และสามารถเคลื่อนที่ไปยัง ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และบริเวณที่พลังลิบิโดไปรวมอยู่เรียกว่า ที่ของความรู้สึกพึงพอใจ (Erogeneous Zone) เมื่อพลังลิบิโดไปอยู่ในส่วนใดก็จะก่อให้เกิดความตึงเครียด (Tension) ขึ้นที่ส่วนนั้น วิธีการที่จะขจัดความตึงเครียด ได้ก็โดยการเร้าหรือกระตุ้นส่วนนั้นอย่างเหมาะสม เพื่อทำให้เกิดความพึงพอใจ (Gratification) บริเวณที่พลัง Libido เคลื่อนไปอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ หรือวัยต่างๆ ของบุคคล จะทำให้เกิดการพัฒนาการไปตาม ขั้นตอนของวัยนั้นๆ ซึ่งฟรอยด์ แบ่งการพัฒนาบุคลิกภาพออกเป็น 5 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นปาก (Oral Stage) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่บริเวณปาก การได้รับการกระตุ้น หรือเร้าที่ปากจะทำให้เด็กเกิดความพึงพอใจ ทำให้เด็กตอบสนองความพึงพอใจของตนเองโดยการดูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูดนมแม่จึงเป็นความสุข และความพึงพอใจของเขาในขั้นนี้ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีการดูแลเอาใจใส่ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่จะทำให้เด็ก เกิดความไว้วางใจ และความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเอง และสภาพแวดล้อม เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มพัฒนาความรักตัวเอง (Narcissism) แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น ถูกปล่อยให้ร้องไห้ เพราะหิวเป็นเวลานานๆ ไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา และไม่ได้รับการสัมผัสที่อบอุ่นหรือการแสดงความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ และผู้ใกล้ชิด จะทำให้เด็กพัฒนาความไม่ไว้วางใจ (Distrust) มีความรู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับตนเอง และเกลียดชังสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดการยึดติด (Fixatio) ของพัฒนาการในขั้นปาก พลัง Libido บางส่วนไม่ได้รับการเร้าอย่างเหมาะสม จะทำให้การยึดติดอยู่บริเวณปาก และไม่สามารถเคลื่อนที่ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ตามความเหมาะสมของการพัฒนาการในขั้นต่อไป ก่อให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในขั้นปาก และเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยรุ่นบุคคลก็จะแสดงบุคลิกภาพที่ยึดติดในขั้นปากออกมาในรูปของพฤติกรรมต่างๆ เช่น การติดสุรา ติดบุหรี่ ยาเสพติด ชอบขบเคี้ยวไม่หยุดปาก ชอบกินของคบเคี้ยวกรอบๆ กินอาหารแปลกๆ เช่น กินกุ้งเต้น หรือ ชอบพูดจาเยาะเย้ยถากถาง ก้าวร้าว บ้าอำนาจ พูดจาใส่ร้ายป้ายสีได้โดยขาดความละอาย และชอบทำตัวให้เป็นจุดเด่นในสังคมโดย วิธีการใช้ปากหรือเสียงดังๆ เป็นต้น
2. ขั้นทวาร (Anal Stage) เด็กจะมีอายุตั้งแต่ 1-3 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่ที่บริเวณทวาร โดยที่เด็กจะมีความพึงพอใจ เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น หรือเร้าบริเวณทวาร ในระยะนี้เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง เริ่มมีความพึงพอใจกับ ความสามารถใน การควบคุมอวัยวะ ของตนเอง โดยเฉพาะอวัยวะขับถ่าย กิจกรรมที่เด็กมีความสุขจะเกี่ยวข้องกับการกลั้นอุจจาระ (Anal Retention) และการถ่ายอุจจาระ (Anal Expulsion) ความขัดแย้งที่มักเกิดขึ้นในขั้นนี้คือ การฝึกหัดการขับถ่าย (Toilet) Training ดังนั้น ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ และฝึกการขับถ่ายให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับเวลา และสถานที่โดยไม่บังคับ หรือเข้มงวด และวางระเบียบมากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้น เด็กจะเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจในความมีอิสระ และความสามารถในการบังคับอวัยวะของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามความพึงพอใจของเด็กโดยไม่สนใจให้การดูแล และฝึกหัดให้เด็กเรียนรู้การขับถ่ายที่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กติดตรึงอยู่กับความต้องการของตนเอง ไม่พัฒนาการยอมรับจากผู้อื่น จะเห็นได้ว่าปฏิกิริยา กฎเกณฑ์ และเจตคติของพ่อแม่ในการฝึกหัดการขับถ่ายของเด็ก จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสม ในขั้นทวารเพราะถ้าสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับเด็กเป็นอย่างดีโดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการฝึกการขับถ่ายของเด็กจึงมีความสำคัญ ต่อการพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมในขั้นทวาร เพราะถ้าสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่กับเด็กเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับ การฝึกการขับถ่าย จะทำให้เด็กพัฒนาอารมณ์ที่มั่นคง เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยนแต่ถ้าเด็กเกิด การติดตรึงในขั้นตอนนี้ จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเด็กพอใจกับการถ่ายอุจจาระมากเกินไป เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นคนสุรุ่นสุร่าย แต่ถ้าเด็กพอใจกับการกลั้นอุจจาระไว้ไม่ยอมขับถ่าย ก็จะเป็นคนขี้เหนียว ตระหนี่ หรือถ้าเด็กรู้สึกโกรธหรือเกลียด พ่อแม่ที่เข้มงวดในเรื่องขับถ่ายก็จะทำให้เด็กมีนิสัยดื้อรั้น ก็จะกลายเป็นเจ้าระเบียบ จู้จี้จุกจิก หรือถ้าพ่อแม่ที่เน้นการขับถ่ายตรงเวลา ไม่รู้จักยืดหยุ่นก็จะกลายเป็นคนเข้มงวด ไม่ยืดหยุ่น แต่ถ้ายึดติดในขั้นนี้เป็นไปอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดเด็กมีบุคลิกภาพแปรปรวน เช่น ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด (Sadism) หรือการร่วมเพศด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้น
3. ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น (Phallic Stage) เริ่มตั้งแต่ 3 – 5 ขวบ ในขั้นนี้ Erogenous Zone จะอยู่ที่อวัยวะเพศ โดยที่เด็กเกิด ความรู้สึกพึงพอใจกับการจับต้องอวัยวะเพศ เพราะมีความพึงพอใจทางเพศอยู่ที่ตนเองในระยะแรก ต่อมาในช่วง 4-5 ขวบ พลัง Libido บางส่วนจะเคลื่อนที่ออกจากตนเองไปรวมอยู่ที่พ่อแม่ ซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเด็ก ทำให้เด็กชายรักใคร่ และหวงแหนแม่จึงเกิดความรู้สึกอิจฉา และเป็นปรปักษ์กับพ่อในขณะที่เด็กหญิงจะรักใคร่ และหวง แหนพ่อ จึงรู้สึกอิจฉา และเป็นศัตรูกับแม่ ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นปมออดิปุส (Oedipus Complex) ในเด็กชาย และปมอีเลคต้า (Electra Complex) ในเด็กหญิง
ในขั้นนี้ นอกจากจะเกิด Oedipus Complex แล้วเด็กชายจะเกิดความวิตกกังวลกลัวว่าจะถูกตัดอวัยวะเพศ (Castration Anxiety) เพราะเด็กชายเริ่มมองเห็นความแตกต่างทางร่างกายของเพศชาย และเพศหญิง ทำให้เด็กชายเกิด จินตนการว่าเด็กหญิงก็มีองคชาต (Penis) แต่ถูกตัดไป จึงเกิดความกังวลไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับตนเอง ทำให้เริ่มเรียนรู้อำนาจของพ่อที่มีเหนือเขา ความรู้สึกเกลียดชัง และเป็น ปรปักษ์กับพ่อ เพราะต้องการแย่งชิงความรักจากแม่ค่อยๆ หมดไป หันมาเป็นมิตร และเลียนแบบ (Identification) พ่อจึงเอา (Introject) บทบาททางเพศชายของพ่อมาไว้ในตนเอง ทำให้ปรากฏการณ์ของ Oedipus Complex หายไป และเด็กจะเลียนแบบบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเอง
ในระยะนี้ Superego ของเด็กจะเริ่มพัฒนาจากการรับเอาค่านิยม คุณธรรม และบรรทัดฐานทางสังคมของพ่อแม่มาไว้ในตัว ในขณะที่เด็กหญิง นอกจากจะเกิด Electra Complex แล้ว เด็กหญิงจะเกิดความอิจฉาของ องคชาต (Penis Envy) ในเด็กชาย และรู้สึกต่ำต้อยที่ตนเองไม่มีองคชาตเหมือนเด็กชาย เมื่อเกิดปรากฏการณ์ Electra Complex แล้วเด็กหญิงจะรักใคร่ และหวงแหนพ่อในที่เกลียดชัง และรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งกับแม่ และเห็นว่าพ่อไม่สามารถให้องคชาตแก่ตนได้ จึงเกิดความรู้สึกว่าแม่เป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเอง และแม่ไม่มีองคชาตเช่นกัน ทำให้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกับแม่หันมาเลียนแบบแม่ ทำให้ปมอีเลคตร้าหมดไป ในขณะที่ส่วนของ Superego เริ่มพัฒนาขึ้น
ในขั้นนี้ ถ้าพัฒนาการทางบุคลิกภาพเป็นไปด้วยดี จะทำให้เด็กแสดงบทบาทที่เหมาะสมตามเพศของตนเองเมื่อโตขึ้น และมีเจตคติที่ดีในเรื่องเพศ แต่ถ้าพัฒนาการเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมแล้วจะเกิดการติดตรึงทำให้บุคลิกภาพผิดปกติไป เช่น ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว(Impotence)ในเพศชาย และมีความรู้สึกเย็นชาเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Frigidity) ในเพศหญิง การรักร่วมเพศ (Homosexuality) หรือชอบอวดอวัยวะเพศ (Exhibitionism) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ขั้นอวัยวะเพศตอนต้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการพัฒนาบุคลิกภาพ พ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูจะมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยให้บทบาททางเพศของเด็กเป็นไปด้วยดี พ่อแม่จึงไม่ควรตำหนิหรือเข้มงวดกับเด็กมากเกินไป เมื่อเด็กจับต้องอวัยวะเพศของตน ในขณะเดียวกันเด็กควรได้รับชี้แจง และการสั่งสอนเรื่องเพศ ตามความเหมาะสมกับการอยากรู้อยากเห็นของเขา และพ่อแม่ควรทำให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงบทบาททางเพศ ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอาใจใส่แก่เด็ก มีเวลาใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งทำให้เด็กเรียนรู้ถึงสัมพันธภาพที่ดีในการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศเดียวกัน และต่างเพศ การให้ข้อมูลทางเพศควรใช้เหตุผล และค่านิยมของสังคมที่เหมาะสมในการอธิบายเพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดีในเรื่องเพศแก่เด็ก ทำให้เด็กยอมรับความรู้สึกของตนเอง และสามารถแสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมาได้เหมาะสม กับบทบาททางเพศ ตามบรรทัดฐานของสังคมต่อไป
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) เริ่มตั้งแต่ อายุ 6 – 11 ปี ในขั้นนี้ Erogenous Zone จะไม่ปรากฏอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ เสมือนขั้นแฝงของพลัง Libido เป็นระยะพักในเรื่องเพศ และจินตนาการทางเพศ เด็กจะเริ่มมีชีวิตสังคมภายนอกบ้านมากขึ้นที่จะเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยดังกล่าว เด็กหากเด็กมีพัฒนาการในวัยต้นๆ อย่างเหมาะสมในขั้นนี้เด็กจะมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนกลุ่มเดียวกัน
5. ขั้นอวัยวะเพศตอนปลาย (Genital Stage) เริ่มจาก 12 ขวบเป็นต้นไป ในระยะนี้เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และวัยชรา โดยมี Erogonous Zone จะมาอยู่ที่อวัยวะเพศ (Genitel Area) เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลง ทางร่างกายทั้งหญิง และชายต่างๆ กัน และมีพัฒนาการทางร่างกายตน มีความสามารถในการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความต้องการตาม สัญชาตญาณทางเพศอย่างรุนแรง ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเป็นอิสระในขณะเดียวกับก็ต้องการได้รับความอบอุ่น และการดูแลเอาใจใส่ทางจิตใจจากพ่อแม่ เมื่อบุคคลมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเกิดความพึงพอใจทางด้านเพศ มีการแสวงความสุขทางเพศระหว่างชายหญิง บุคคลที่มีการพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างปกติ ไม่มีการติดตรึง ก็จะสามารถมีชีวิตทางสังคม ที่ถูกต้องเหมาะสมคือมีครอบครัว และสามารถแสดงบทบาททางเพศ และบทบาทของพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม
จะเห็นได้ว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพตามความเชื่อของ ฟรอยด์ จะมีความสัมพันธ์กับพลังลิบิโด (Libido) กับลักษณะทางชีวภาพของบุคคล ที่จะนำไปสู่สภาวะทางสุขภาพจิต หากการพัฒนาการแต่ละขั้นเป็นไปด้วยความเหมาะสม ก็จะทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพที่ปกติ แต่ถ้าพัฒนาการแต่ละขั้นเกิดการติดตรึง จะมีผลทำให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพในรูปแบบต่าง เช่น โรคจิตหรือโรคประสาทที่ถือว่า มีความแปรปรวนในทางบุคลิกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงห้าปีแรกของชีวิตจะเป็นช่วงการสร้างพื้นฐานทางบุคลิกภาพของบุคคล ประสบการณ์ที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในระยะนี้อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อบุคลิกภาพของเด็กไปตลอดชีวิต ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการจัดบรรยากาศของการเลี้ยงดูลูกๆ ให้เหมาะสมที่จะสร้างพื้นฐาน ทางบุคลิกภาพที่มั่นคง และเหมาะสมเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์อย่างเต็มที่

ทฤษฎีพัฒนาการของ อิริคสัน (Erikson)

ทฤษฎีพัฒนาการของ อิริคสัน (Erikson)
อิริคสัน ค.ศ.1902 เป็นนักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อของอเมริกา และจัดอยู่ในกลุ่มฟรอยด์รุ่นใหม่
เกิดที่เมืองแฟรงเฟิต ประเทศเยอรมัน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ประเทศอเมริกาในปี ค.ศ. 1933 และเป็นผู้วิเคราะห์เกี่ยวกับเด็กเป็นคนแรกในนครบอสตัน เห็นว่าการจะทำความเข้าใจพฤติกรรมเด็กจะต้องศึกษาจากการอบรมเลี้ยงดู สภาพสังคม และความเป็นอยู่ของเด็ก ปัญหาที่นำมาวิเคราะห์นั้นจะอธิบายเชื่อมโยงระหว่างจิตวิทยากับสังคมวิทยาในรูปแบบของมนุยวิทยา ซึ่งมีแนวความคิดว่ามนุษย์ต้องพึ่งสังคมและสังคมก็ต้องพึ่งมนุษย์ มนุษย์มีวิวัฒนาการที่สลับซับซ้อนและผ่านขั้นตอนต่างๆของธรรมชาติหลายขั้นตอน
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ 8 ขั้นตอนของอิริคสัน
1. ความไว้วางใจกับความไม่ไว้วางใจ (Trust VS. Mistrust) (ในช่วง0 -1 ปี) ถ้าเด็กได้รับความรักใคร่ที่เหมาะสม ทำให้เขารู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัย น่าอยู่และไว้วางใจได้ แต่ถ้าตรงกับข้ามเด็กก็จะรู้สึกว่าโลกนี้เต็มไปด้วยอันตรายไม่มีความปลอดภัย มีแต่ความหวาดระแวง
2. ความเป็นตัวของตัวเองกับความคลางแคลงใจ (Autonomy VS. Doubt)(ในช่วง2 – 3 ปี) เด็กในวัยนี้จะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและอยากเอาชนะสิ่งแวดล้อมหรืออำนาจที่มีอยู่ พ่อแม่จึงควรระวังในเรื่องความสมดุลในการเลี้ยงดู ควรให้โอกาสและกำลังใจต่อเด็ก เด็กจะพัฒนาความเป็นตัวเอง มีความมั่นใจ รู้จักอิสระที่จะควบคุมตนเอง แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ให้โอกาสหรือทำแทนเด็กทุกอย่าง เด็กจะเกิดความคลางแคลงใจในความสามารถของตนเอง
3. ความริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative VS. Guilt) (ในช่วง4 – 5 ปี) การมีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดถึงการใช้ภาษาจะช่วยให้เด็กเกิดแง่คิดในการวางแผนและการริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะเป็นการส่งเสริมทำให้เขารู้สึกต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไปเด็กก็จะมีความคิดริเริ่ม แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ใหญ่คอยเข้มงวด ไม่เปิดโอกาสให้เด็ก ตำหนิอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะรู้สึกผิดเมื่อคิดจะทำสิ่งใดๆ นอกจากนี้เขาก็จะเริ่มเรียนรู้บทบาททางเพศมาตรฐานทางศีลธรรมและการควบคุมอารมณ์
4. ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย (Industry VS. Inferiority) (ในช่วง6 – 12 ปี) เด็กในวัยนี้จะเริ่มเข้าเรียนและต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น มีพัฒนาการทางด้านความขยันขันแข็ง โดยพยายามคิดทำ คิดผลิตสิ่งต่างๆ ให้เหมือนผู้ใหญ่ด้วยการทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจ ถ้าเขาได้รับคำชมเชยก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจ มีความมานะพยายามมากขึ้น แต่ถ้าตรงกันข้ามเด็กไม่ได้รับความสนใจหรือผู้ใหญ่แสดงออกมาให้เขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่น่ารำคาญเขาก็จะรู้สึกต่ำต้อย
5. ความเป็นเอกลักลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity VS. Role Confusion) (ในช่วง12 – 17 ปี) เป็นช่วงที่เด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเองว่าตนคือใคร ถ้าเขาค้นหาตนเองได้ เขาจะแสดงบทบาทของตนเองได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าตรงกันข้ามเขาค้นหาเอกลักษณ์ของตนไม่พบเขาจะเกิดความสับสนและแสดงบทบาทที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับตนเอง
6. ความผูกพันกับการแยกตัว(Intimacy VS. Isolation) (ในช่วง18- 34 ปี) เป็นขั้นของการพัฒนาทางด้านความรัก ความผูกพัน เมื่อบุคคลสามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตนเองได้แล้ว ก็เกิดความรู้สึกต้องการมีเพื่อนสนิทที่รู้ใจ สามารถปรับทุกข์ซึ่งกันและกันได้ ตลอดถึงแสดงความยินดี และเสียสละให้แก่กัน แต่ถ้าพัฒนาการในช่วงนี้ล้มเหลวไม่สามารถสร้างความรู้สึกเช่นนี้ได้ เขาก็จะขาดเพื่อนสนิท หรือเกิดความรู้สึกต้องการจะชิงดีชิงเด่น ชอบทะเลาะกับผู้อื่น รู้สึกว้าเหว่เหมือนถูกทอดทิ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การแยกตัวเอง และดำเนินชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
7. การทำประโยชน์ให้สังคมกับการคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity VS. Self Absorption) (ในช่วง35 – 60 ปี) เป็นช่วงของวัยกลางคน ซึ่งมีความพร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคมได้เต็มที่ ถ้าพัฒนาการแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยดี มีการดูแลรับผิดชอบเอาใจใส่ต่อบุตรหลานให้มีความสุข มีการอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีต่อไปในอนาคต แต่ถ้าตรงกันข้ามก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะเกิดความรู้สึกท้อถอย เบื่อหน่ายชีวิต คิดถึงแต่ตนเองไม่รับผิดชอบต่อสังคม
8. บูรณาการกับความสิ้นหวัง (Integrity VS. Despair) (ในช่วง60 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงของวัยชราซึ่งเป็นวัยสุดท้าย ถ้าบุคคลผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มาด้วยดี ก็จะมองอดีตเต็มไปด้วยความสำเร็จ มีปรัชญาชีวิตตนเอง ภูมิใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างให้แก่ลูกหลาน แต่ถ้าตรงกันข้ามกันชีวิตมีแต่ความล้มเหลว ก็จะเกิดความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต เสียดายเวลาที่ผ่านมาไม่พอกับชีวิตในอดีตไม่ยอมรับสภาพตนเอง เกิดความคับข้องใจต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขาดความสงบสุขในชีวิต
สรุป ทฤษฎีของอีริคสัน เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่งวัยทารกจนถึงวัยชรา อีริคสันเชื่อว่า วัยแรกของชีวิตเป็นวัยที่เป็นรากฐานเบื้องต้น และวัยต่อ ๆ มาก็สร้างจากรากฐานนี้ ถ้าหากในวัยทารกเด็กได้รับการดูแลอย่างดีและอบอุ่น ก็จะช่วยให้เด็กมีความเชื่อถือในผู้อื่นที่อยู่รอบ ๆ ตั้งแต่บิดามารดา บุคคลต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเขา จะช่วยให้เด็กช่วยตนเอง มีความตั้งใจที่จะทำอะไรเอง และเมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นผู้ที่รู้สึกว่าตนเองมีสมรรถภาพที่จะทำอะไรได้ นอกจากนี้จะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น สามารถที่จะยอมรับสิ่งที่ดีและไม่ดีของตนเองได้และผู้อื่นสามารถที่จะสนิทสนมกับผู้อื่น ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้ามโดยสนิทใจ โดยไม่มีความอิจฉาว่าเพื่อนจะดีกว่าตน เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้เสียสละไม่เห็นแก่ตัวดูแลผู้ที่อ่อนเยาว์กว่า เช่น ลูกหลาน หรือคนรุ่นหลังต่อไป และเมื่ออยู่ในวัยชราก็จะมีความสุข เพราะว่าได้ทำประโยชน์และหน้าที่มาอย่างเต็มที่แล้ว อีริคสสันถือว่าชีวิตของคนเรา แต่ละวัยจะมีปัญหา บางคนก็สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง และดำเนินชีวิตไปตามขั้น แต่บางคนก็แก้ปัญหาเองไม่ได้ อาจจะต้องไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาช่วยเพื่อแก้ปัญหา แต่บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และทุกคนมีโอกาสที่จะแก้ไขบุคลิกภาพของตน และผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อมก็มีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมหรือแก้ไขบุคลิกภาพของผู้เยาว์ที่อยู่ในความดูแลให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข